เมื่อถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่งควรทำอย่างไร?



การที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลในทางแพ่งได้ต้องมีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นหรือจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลและต้องมีกฎหมายรับรองสิทธิหรือหน้าที่ให้ทำได้ด้วยใช่ว่าจะฟ้องได้ทั้งหมดหากมีปัญหาเกิดขึ้นทุกกรณี ดังนั้นเมื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วกระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลก่อนศาลชี้ขาดตัดสินเรียกว่ากระบวนพิจารณาความซึ่งมีขั้นตอนและหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องต่อศาลหรือถูกฟ้องหรือในฐานะทนายความซึ่งเป็นตัวแทนของคู่ความฝ่ายโจทก์หรือจำเลยรวมถึงศาลด้วยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เดียวกันคือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าว

และจำเป็นหรือไม่เมื่อมีคดีความต้องจ้างทนายความเสมอไปไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจำต้องมีทนายความต่างกับกฎหมายอาญาที่มีบางข้อหาที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีทนายความส่วนกฎหมายแพ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือห้ามผู้เป็นโจทก์หรือจำเลยนั้นจะว่าความเอง ดังนั้นเมื่อถูกฟ้องหรือจะฟ้องก็สามารถทำเองได้ไม่จำต้องจ้างทนายเสมอไปแต่กระบวนพิจารณาในศาลนั้นเป็นไปตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความหากเราไม่มีประสบการณ์ซึ่งเป็นทักษะเฉพาะด้านการมีทนายความย่อมจะเป็นประโยชน์ได้มากกว่าเว้นแต่กรณีมีความจำเป็นในค่าจ้างซึ่งอาจประหยัดได้ด้วยการให้ทนายทำเฉพาะสำนวนเช่นคำฟ้องหรือคำให้การให้โดยตัวความไปดำเนินกระบวนได้ด้วยตนเองอาจเป็นอีกทางเลือก

คำฟ้องถ้าจะพูดแบบเข้าใจง่ายคือเป็นคำบอกให้ศาลรู้ว่าโจทก์มีสิทธิอะไรควรได้อะไรและศาลจะตัดสินให้โจทก์ชนะก็อาศัยเหตุในคำฟ้องโจทก์อยากให้ศาลตัดสินให้ชนะเพราะอะไรศาลก็จะดูในคำฟ้องของโจทก์ ส่วนผู้ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยก็ต้องไปต่อสู้และจำเลยต้องการให้ศาลยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุใดจำเลยต้องบอกเหตุนั้นมาในคำให้การเหตุอะไรเพราะอะไรที่จำเลยไม่ควรรับผิดบอกไปในคำให้การโจทก์-จำเลยจึงไม่สามารถบอกศาลโดยทางอื่นได้คำฟ้องคำให้การยืนยันอะไรเมื่อถึงวันสืบฯก็สืบพยานไปตามนั้นการอุทธรณ์ก็จะอุทธรณ์นอกฟ้องนอกคำให้การไม่ได้แม้ตอนศาลพิพากษาศาลก็พิพากษาไปตามคำฟ้อง

ฉะนั้นคำให้การจึงสำคัญยิ่งจำเลยจึงไม่ควรเพิกเฉยเมื่อได้รับหมายศาลฯหากจำเลยไม่ไปศาลตามกำหนดนัดฯก็จะตกเป็นผู้ผิดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาแล้วแต่กรณีศาลก็ต้องพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวหากโจทก์ไม่ขาดนัดฯไปด้วยกันเมื่อเสร็จการพิจารณาและศาลมีคำพิพากษาแล้วคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันโจทก์-จำเลยต้องปฏิบัติตามเมื่อโจทก์ชนะคดีก็มีสิทธิบังคับตามคำพิพากษากับผู้แพ้คดี นั่นก็จะเป็นการยากที่จะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นและคำพิพากษาเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วไม่สามารถแก้ไขได้นอกจากศาลสูงเท่านั้นโดยการอุทธรณ์หรือฏีกาแล้วแต่กรณีและต้องอยู่ในกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขของกฎหมายด้วย

ดังนั้นจึงสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรสนใจและใส่ใจเมื่อได้รับหมายศาลฯอย่าคิดว่า “ช่างแม่ง” หากจำเลยเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นหรือเอาตัวบุคคลอื่นไปค้ำประกันหนี้ไว้ฯ แน่นอนผลก็ย่อมกระทบแก่บุคคลนั้นและทรัพย์นั้นเป็นวงกว้างไปอีกซึ่งจริงๆจำเลยอาจจะแก้ปัญหาได้แต่แรกก็ได้ เช่นเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมยอมความหรือหาทางออกที่สมเหตุสมผลในกรอบของกฎหมายหากล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิไว้แล้วย่อมยากที่จะย้อน.

แสดงความคิดเห็น

To Top