คดีฟื้นฟูกิจการ


การฟื้นฟูกิจการวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสพื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้คืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

โดยเริ่มต้นจากการร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบุคคลผู้มีสิทธิร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เช่นตัวลูกหนี้เอง,เจ้าหนี้,หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลลูกหนี้,นิติบุคคลอื่นฯ หลังจากที่มีการร้องขอแล้วและศาลสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณาก็จะเกิดสภาวะพักชำระหนี้ขึ้นทันทีและเข้าสู่กระบวนการไต่สวน หลังจากที่ศาลได้ไต่สวนแล้วถ้าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้คือลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้และเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลก็จะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือถ้าศาลเห็นว่ากรณีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดศาลก็จะสั่งยกคำร้องขอ

เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วศาลก็จะพิจารณาต่อไปว่าจะให้ใครบริหารกิจการของลูกหนี้ต่อ เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งใครขึ้นมาแล้วจึงเรียกบุคคลนั้นว่า “ผู้ทำแผน” ผู้ทำแผนมีหน้าที่สองอย่างคือทำแผนและหน้าที่ในการจัดการกิจการของลูกหนี้และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นตกแก่ผู้ทำแผนยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล และผู้ทำแผนจะต้องทำแผนยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ๆจะนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนนั้นว่าจะยอมรับหรือไม่ถ้ายอมรับต้องรายงานต่อศาลถ้าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนนั้นชอบด้วยกฎหมายศาลก็จะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ก็จะมีบุคคลอีกคนหนึ่งมาบริหารกิจการนั้นตามแผนซึ่งบุคคลนี้เรียกว่า “ผู้บริหารแผน” และผู้บริหารแผนก็จะมาบริหารกิจการของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น

ถ้าดำเนินการตามแผนสำเร็จครบตามที่กำหนดไว้ในแผนการฟื้นฟูกิจการนั้นศาลก็จะมี "คำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ""ผลคือ ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการของลูกหนี้และผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป

ถ้าการดำเนินการฟื้นฟูกิจการนี้ไม่สำเร็จด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไว้แล้วศาลก็ต้องมีคำสั่งลบล้างกระบวนพิจารณาทั้งหมดแล้วให้คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมเรียกว่า “คำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ” ผลคือ หน้าที่ในการจัดการกิจการของลูกหนี้กลับเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้ และให้ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป หรือกรณีที่ลูกหนี้ดำเนินการค้าขายต่อไปในระยะเวลาที่ศาลมีคำสั่งนี้มีแต่ทรุดกับทรุดขาดทุนตลอดถ้าศาลเห็นว่าลูกหนี้ควรล้มละลายศาลก็จะสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีฟื้นฟูกิจการต่อไป

แสดงความคิดเห็น

To Top