ความผิดฐานทำให้แท้ง

"ทำแท้งอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย"

แม้กฎหมายจะได้แก้ไขมาหลายปีแต่เราก็ยังพบเห็นข่าวอยู่เนืองๆ พบทารกถูกทิ้งตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสรรพสิ่งมีที่มาที่ไปมีเหตุและผลในตัวของมันเอง การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญายังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด จำเป็นต้องศึกษาบริบททางสังคม การดูแลเอาใจใส่บุคคลในครอบครัว การให้ความรู้ความเข้าใจรอบด้านในสถานศึกษา,ครอบครัวและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและลดปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมอย่างแท้จริง

กฎของศีลธรรมการทำแท้งเป็นสิ่งที่ผิดเพราะเป็นการฆ่าหรือการททำลายชีวิตแต่ในปัจจุบันกฎหมายของหลายประเทศบัญญัติให้สามารถทำแท้งได้ ภายใต้เงื่อนไขความแตกต่างแต่ละประเทศตามขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และสภาพสังคม การลักลอบทำแท้งเป็นการผลักให้หญิงที่ต้องการทำแท้งไปรับบริการนอกระบบสาธารณสุขที่มีความปลอดภัยต่ากว่าสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายข้อเรียกร้องทางสังคมว่ารัฐควรมีบริการให้หญิงที่ต้องการทำแท้งสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ปลอดภัยเพื่อลดการสูญเสียเสี่ยงต่อชีวิตจากการทำแท้ง ซึ่งทุกชีวิตมีค่ามีความสำคัญและเป็นทรัพยากรเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวประเทศชาติต่อไปในวันข้างหน้า

กฎหมายจึงพัฒนาการขึ้นเพื่อสอดคล้องกับบริบทของสังคมและหรือสภาพการณ์ในปัจจุบัน การทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองบุคคลและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เดิมกฎหมายมาตรา ๓๐๑ บัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกต้องระวางโทษ.....” กฎหมายมองว่าทารกในครรภ์หญิงนั้นเป็นอีกหนึ่งชีวิตต่างหากจึงกำหนดโทษแก่หญิงมุ่งคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์

ปัจจุบันกฎหมายได้ปรับปรุงแก้ไขพัฒนาขึ้นเป็นการยอมรับในสิทธิร่างกายของหญิงซึ่งมีมาก่อนสิทธิทารกในครรภ์ซึ่งพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ.๒๕๖๔ ได้ยกเลิกความเดิมดังกล่าว ใช้ความใหม่แทนซึ่งบัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ ต้องระวางโทษ” ดั้งนั้นถ้าอายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์จึงไม่เป็นความผิด ส่วนกรณีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ทำแท้งได้เช่นกันแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดจึงจะไม่เป็นความผิด

หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ได้ให้เหตุผลว่า ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ วินิจฉัยว่า บทบัญญัติความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ตามมาตรา ๓๐๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  เนื่องจากการทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์เป็นปัญหาทั้งทางสังคมทางการแพทย์ และทางกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน รวมทั้งเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมและศีลธรรม ซึ่งถือว่าเป็นความผิดทางอาญาและกำหนดโทษแก่หญิงเพียงฝ่ายเดียวที่ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ฯลฯ..................  รวมทั้งยังส่งผลกระทบถึงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของหญิงตั้งครรภ์ที่ครอบคลุมไปถึงสิทธิในการตัดสินใจของหญิงว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ต่อไปหรือไม่ การคุ้มครองสิทธิของทารกในครรภ์และสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ต้องให้เกิดความสมดุลกันโดยอาจต้องนำช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์มาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ฯ.................. ประกอบกับรัฐมีหน้าที่กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมให้บุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพโดยจัดให้มีมาตรการในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ถูกต้องตามกฎหมายไม่กระทบต่อการใช้สิทธิของหญิงและในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าไปดูแลและคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์มิให้ถูกกระทบสิทธิในการมีชีวิตด้วยเช่นกัน บทบัญญัติมาตรา ๓๐๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิงเกินความจำเป็น ไม่เป็นไปตามหลักแห่งความได้สัดส่วนและเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ................. จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

แสดงความคิดเห็น

To Top